วันอาทิตย์ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2557

ขั้นตอนของพัฒนาการด้านการพูดของเด็กปฐมวัย

ขั้นตอนของพัฒนาการด้านการพูดของเด็กปฐมวัย


เบญจมาศ พระธานี ได้สรุปขั้นตอนของพัฒนาการด้านการพูดของเด็กปฐมวัย  ไว้ดังนี้
1. เสียงแสดงปฏิกิริยาสะท้อน (Reflex sounds) อายุ 0-2 เดือน เป็นขั้นแรกของการเรียนรู้ภาษาและการพูด ตั้งแต่เด็กร้องไห้ตอนแรกคลอด ซึ่งเป็นการแสดงถึงการพัฒนาการทำงานของอวัยวะที่ใช้ในการออกเสียงและหายใจที่จะเป็นพื้นฐานของการพูดต่อไป การร้องไห้ระยะต่อมาจะแสดงถึงความต้องการของเด็กได้หลายอย่าง เช่น หิว เปียก หรือตกใจ เป็นต้น
2. เสียงอ้อแอ้ (Babbling) อายุ ½ เดือน – 2 ปี เป็นขั้นที่เด็กส่งเสียงด้วยความพอใจที่ได้เคลื่อนไหวอวัยวะที่ใช้ในการพูด โดยจะเลียนแบบเสียงของตัวเองซ้ำๆ เสียงอ้อแอ้นี้เกิดขึ้นโดยสัญชาติญาณของความเป็นมนุษย์ จึงพบได้ในเด็กทุกคนแม้กระทั่งเด็กหูหนวกหูตึงแต่การส่งเสียงอ้อแอ้ในเด็กเหล่านี้จะไม่พัฒนาต่อไปตามปกติเพราะไม่ได้ยินเสียงของตัวเอง
3. การส่งเสียงเพื่อสื่อความหมาย (Sociallized vocal play) อายุ 5-6 เดือน เป็นขั้นที่เด็กเริ่มส่งเสียงเพื่อการสื่อสารกับผู้อื่น  โดยเด็กจะฟังเสียงอื่นและส่งเสียงโต้ตอบเป็นครั้งคราว ขั้นที่คาบเกี่ยวกับการส่งเสียงอ้อแอ้   ซึ่งบางครั้งเด็กจะส่งเสียงอ้อแอ้เล่นคนเดียวบางครั้งส่งเสียงเพื่อโต้ตอบคนรอบข้าง
4. คำแรกที่มีความหมาย (The First Meanininful Word) อายุ 8-10 เดือน เป็นขั้นที่เด็กเริ่มเข้าใจคำพูดที่เคยได้ยินจากการเชื่อมโยงคำพูดกับเหตุการณ์ต่างๆ แล้วสะสมเป็นความรู้ภายใน เมื่อเด็กมีความพร้อมเด็กจะเลียนแบบการออกเสียงผู้อื่น และออกเสียงคำคำนั้นได้ถูกต้องในเวลาต่อมา
5. วลี ประโยค และภาษาเด็ก (Phrases, Sentences, and Jargon) อายุ 12-24 เดือน  เป็นขั้นที่เด็กเริ่มเป็นคำที่ยาว 2 พยางค์ หรือคำ 2 คำรวมกันเป็นวลี และประโยค ซึ่งมีความซับซ้อนมากขึ้นตามอายุ โดยเฉลี่ยเด็กอายุ 1 ปี จะพูดวลีหรือประโยคที่ยาว 1 คำ เด็กอายุ 2 ปี จะพูดวลีหรือประโยคที่ยาว 2 คำ เด็กอายุ 3 ปี จะพูดวลีหรือประโยคที่ยาว 3 คำ และเด็กอายุ 4 ปี จะพูดวลีหรือหรือประโยคที่ยาว 4 คำ แต่ในบางครั้งเด็กจะมีการทดลองใช้คำศัพท์ใหม่ๆ ซึ่งอาจจะมีลักษณะของการหยุดคิด (Pause) พูดซ้ำๆ ใช้คำเอ้ออ้า บ่อยๆ คล้ายคนติดอ่าง (Normal Disfluency) ลักษณะการพูด  เช่นนี้เกิดขึ้นในช่วงที่เด็กอายุ 2-6 ปี ซึ่งจะค่อยๆ หายไปเมื่อเด็กเรียนรู้การพูดคำศัพท์ต่างๆ มากขึ้น  หรือในบางครั้งเด็กเองอยากพูดอยากอธิบายบางสิ่งบางอย่างแต่ไม่ทราบว่าจะใช้คำศัพท์อะไร เด็กจะใช้พยางค์ที่ไม่มีความหมายปนกับพยางค์ที่มีความหมาย (Jargon) การพูดลักษณะเช่นนี้ควรจะหายไปเมื่อเด็กมีอายุปี เพราะเด็กมีการขยายคำศัพท์มากขึ้นแล้ว
6. พัฒนาการแปรเสียง เสียง จังหวะ และภาษา (Articulation, Voice, Rhythm, and
Language Development) อายุ 5-7 ปี เป็นขั้นที่เด็กมีการเรียนรู้การใช้เสียงพูดให้ถูกต้องและมีการ
ขยายคำศัพท์โครงสร้าง และความซับซ้อนของประโยคมากขึ้น เด็กจะพัฒนาสิ่งเหล่านี้ได้ค่อนข้าง
สมบูรณ์ใกล้เคียงผู้ใหญ่ราวอายุ 7-8 ปี

อ้างอิงจาก

เบญจมาศ พระธานี. (2540). วรรณกรรมเด็ก. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ: วัฒนาพานิช.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น